TH I EN
พิธีสอบโครงการสามเณรทรงพระปาติโมกข์ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

วันจันทร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ ลานองค์พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พุทธมณฑล สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานในพิธีสอบโครงการสามเณรทรงพระปาติโมกข์ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ จัดโดย วัดตะโกร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ณ พุทธมณฑล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม การนี้ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมในพิธี

โครงการสามเณรทรงพระปาติโมกข์ จัดขึ้นเพื่อสร้างศาสนทายาท ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ จนถึงพุทธศักราชนี้ ซึ่งเป็นมหามงคลสมัยของปวงชนชาวไทย วัดตะโกจึงได้จัดเป็นกรณีพิเศษร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการ คือ

๑) เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

๒) เพื่อปฏิบัติหน้าที่อันเป็นเหตุแห่งความดำรงมั่นและสืบอายุแห่งพระพุทธศาสนาร่วมกัน

๓) เพื่อส่งเสริมให้สามเณรผู้เป็นศาสนทายาททรงจำพระปาติโมกข์

เพื่อเป็นภิกษุผู้สวดปาติโมกข์แก่วัดและคณะสงฆ์เพิ่มขึ้นต่อไป

๔) เพื่อให้สามเณรผู้เป็นศาสนทายาท อยู่ในฐานะที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุต่อไป ได้ทรงจำสิกขาบทอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ตามกระบวนการอบรมตนในหลักไตรสิกขา

๕) เพื่อส่งเสริมวิริยะอุตสาหะของสามณรให้มีกำลังใจในการเล่าเรียนและสืบพระพุทธศาสนา

โอกาสนี้ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ได้กล่าวสัมโมทนียกถา ความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“ความสำคัญของโครงการนี้ ทำให้เกิดมีสามเณรผู้ทรงปาติโมกข์จำนวนมาก

ที่จัดเป็นผู้สืบสาน รักษา และต่อยอดหน้าที่แห่งศาสนทายาท ผู้องอาจ มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา มีความอดทน เสียสละ และมีความจำเป็นเลิศ จึงทำให้เกิดผลที่น่าชื่นชมในหมู่พุทธบริษัททั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้รักษารากแก้วแห่งพุทธศาสนาด้วยหน้าที่ชีวิตของตน อาจสรุปผลการดำเนินโครงการฯ ลงเป็น ๔ ประการคือ ๑.เป็นหลักฐานทางพระ

ประวัติศาสตร์ ๒.เป็นการประกาศความสามารถสามณร ๓.เป็นการกระตุ้นให้เกิดการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อจะรักษา เชิดชูพระธรรมวินัย ๔.เป็นความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

สอดคล้องต้องกันกับพุทธประสงค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติพระวินัย ก็เพื่อให้เกิดการยอมรับกันว่าดีในหมู่สงฆ์ เพื่อความผาสุก เพื่อข่มคนที่เก้อยากหน้าด้าน เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลอยู่ผาสุก ป้องกันมิให้เกิดโทษอาสวะในปัจจุบัน กำจัดโทษาสวะในอนาคต ให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสได้เลื่อมใส ให้ผู้เลื่อมใสแล้วเลื่อมใสยิ่งขึ้น เพื่อความดำรงมั่นคงแห่งพระสัทธรรม และเพื่ออนุเคราะห์พระวินัยให้ดำรงอยู่ต่อไป

พระพุทธองค์ตรัสวินัยกถา พรรณนาคุณแห่งพระวินัย ตรัสอานิสงส์แห่งการเรียนพระวินัย ทรงยกย่อง ผู้ทรงพระวินัย เช่น พระอุบาลีเถระเนืองๆ โดยอเนกปริยาย ฝ่ายผู้กล่าวพระวินัย พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ไว้ในเรื่องจูฬสงคราม ในคัมภีร์บริวารว่า เป็นบาทฐานให้เกิดความสำรวม บรรลุธรรมตามลำดับไปจนถึงอนุปาทาปรินิพพาน ส่วนผู้ไม่ใส่ใจสิกขาบทเล็กน้อย เช่น เมื่อแสดงปาติโมกข์อยู่แล้วกลุ่มพระฉัพพัคคีย์ก่นพระวินัย ก็ปรับเป็นอาบัติปาจิตตีย์ดังที่สวดผ่านมาแล้วนั้น

พระวินัยอันเป็นรากฐานสำคัญของพระพุทธศาสนา ดังที่พระมหาเถระในคราวทำปฐมสังคายนา มีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน เห็นพ้องกันว่า "วินโย นาม พุทธสาสนสฺส อายุ, วินเย ฐิเต พุทธสาสนํ ฐิตํ โหติ ฯ พระวินัยจัดเป็นอายุของพระพุทธศาสนาเมื่อพระวินัยดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วย"

สามเณรผู้สอบผ่านทุกรูปของโครงการสามเณรทรงพระปาติโมกข์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระ

ชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นอกจากเป็นผู้ดำรงพระศาสนาตามหลักการนี้ จัดเป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติ เป็นศาสนทายาทที่ ดีของพระศาสนา เป็นผู้สืบสานรักษาพระวินัยให้มั่นคง เป็นเหล่ากอแห่งสมณะสาวกสงฆ์ได้อบรมธรรมท่องจำพระวินัยต่อยอดให้อายุพระศาสนายืนนานสืบไป ทั้งมีกุศลเจตนาเพื่อเฉลิมพระเกียรติ

ถวายเป็นพระราชกุศล และพระพรชัยมงคล สมแก่การมหามงคลสมัยศุภวาระนี้อย่างน่าอนุโมทนา และเจริญพระราชศรัทธาเป็นที่ยิ่ง“


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 30,288,384